วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

กาดกองต้า อีกด้านหนึ่งที่น่าค้นหาของลำปาง

"าดกองต้า" สถานที่ยอดฮิตสำหรับคนต่างจังหวัดที่ได้เดินทางขึ้นเหนือมาแอ่วลำปาง ว่าแต่มันแปลว่าอะไร ถ้าแปลเหนือเป็นไทย ก็น่าจะเป็นตลาดริมน้ำ  (ซึ่งหลายคนอาจจะดูไม่ออกเพราะที่นี่จะจัดเป็นตลาดนัดเฉพาะช่วงหัวค่ำเป็นต้นไปของทุกวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น จึงไม่ใคร่มีใครได้เห็นทิวทัศน์ริมน้ำวังของย่านกาดนี้เท่าใดนัก)

บรรยากาศของกาดกองต้าในยามเช้า ที่เห็นเด่นเป็นสง่านั้นคือ ตึกบ้านแม่แดง

ที่นี่เป็นตลาดจริงๆของชาวเรือรวมถึงชาวลำปางในย่านนั้นในอดีต
เป็นแหล่งรวมตึกรามร้านค้ามากมายในยุคที่ลำปางกำลังสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาในด้านเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการทำไม้ในภาคเหนือรวมถึงศูนย์ส่งสินค้าบางอย่างที่หาได้ยากในภาคกลางโดยมีการขนส่งทางน้ำเป็นหัวใจหลัก ก่อนที่จะลดบทบาทลงเมื่อยุคเส้นทางรถไฟได้วางรางมาถึงสถานีลำปางและสร้างต่อทะลุอุโมงค์ขุนตานไปยังเชียงใหม่ในที่สุด


น้ำท่วมใหญ่และซุงเกลื่อนท้องน้ำแม่วัง พศ.2463  ที่มา คุณสุวภรณ์ ชูโต (ด้านหลังไกลๆจะมองเห็นสะพานรัษฎาภิเศก)


ในยุคที่ผมยังเด็กๆนั้น ยังจำบรรยากาศได้ดีในช่วงปิดเทอมที่ทุกปี แม่จะส่งไปอยู่ที่กาดกองต้า(อยู่กับผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือมากและเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในย่านกาดกองต้าที่คนรุ่น 50 (เรียกให้เท่เหมือนรุ่นกางเกงยีนส์ แต่จริงๆก็คือ 50ปีขึ้นไป) น่าจะจำชื่อ คุณยายกิมฮวย ยะตินันท์ คนนี้ได้ ) ซึ่งในตอนนั้น ไม่ค่อยสนุกและคึกคักเหมือนอย่างในตอนนี้ เพราะเป็นช่วงที่การค้าของยุครุ่งเรืองค่อยๆหมดเลือนหายไปจาก
ผู้คนในย่านนั้น ตึกรามบ้านช่องห้องแถวในตอนนั้น น่าจะเป็นเหมือนกับที่พักอาศัยในยามค่ำ และตึกโบราณหลายๆแห่งก็เป็นตึกร้างไร้คนอยู่อาศัยและเหลียวแล

อะไรที่เคยรุ่งเรืองก็ย่อมมีเสื่อมสลาย และเมื่อมีเสื่อมสลายก็อาจมีวันกลับมาฟื้นฟูได้เช่นกัน แม้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเช่นกาลก่อนนั้น กาดกองต้าก็เช่นกัน ผมยังจำบรรยากาศเมื่อวันเปิดกาดในช่วงหัวค่ำของ
หลายปีก่อนได้ เพราะตอนนั้น เราได้รับเชิญให้ไปร่วมขายสินค้าโดยไม่ต้องเสียค่าพื้นที่ ในตอนนั้น คนที่เดินส่วนใหญ่ก็มาจากในพื้นที่เมืองลำปางนี่ล่ะครับ ช่วยกันกิน ช่วยกันซื้อ ช่วยกันใช้ ตึกโบราณหลายๆหลังก็ได้ลูกหลานของเจ้าของบ้านช่วยกันชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ สินค้าที่วางขายก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพ และยุคสมัย (แม้จะไม่คลาสสิคอย่างที่ใจหลายคนอยากให้เป็น) ส่วนเราก็เลิกขายไปเพราะเป็นสินค้าที่หนักและขนไปลำบากไม่คุ้มทุน ไม่เหมือนที่คนหนุ่มๆที่พยายามสรรหาสินค้าใหม่ๆทั้งที่เป็นงานคิดสร้างสรรค์และสินค้าในท้องถิ่นรวมถึงสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วๆไปที่ยังดำเนินการขายต่อ และก็เพราะคนค้าขายรุ่นใหม่ๆเหล่านี้ล่ะครับ ที่ทำให้กาดกองต้าสามารถเปิดขายได้ทุกอาทิตย์จนเป็นที่รู้จักในระดับประเทศดังเช่นทุกวันนี้ น่าชื่นใจครับ


ลายฉลุไม้เป็นชื่อ หม่องโง่ยซิ่น เจ้าของผู้สร้างอาคารหลังงามแห่งกาดกองต้า


ทุกวันนี้ กาดกองต้าอยู่ในโปรแกรมทัวร์ของหลายๆคนเมื่อต้องการมาแวะเที่ยวลำปาง เมือง"เวียงละกอน" ไก่ขันแห่งนี้ และถ้าจะให้แนะนำเที่ยวผมก็พอจะสรุปออกมาได้ประมาณนี้

-หาโอกาสมาพักที่ลำปางสักคืน สองคืนเพื่อซึมซับบรรยากาศเก่าๆของเมืองแก่ๆแต่อบอุ่นไม่แพ้ใครแห่งนี้ ที่พักก็อาจจะเป็นที่ ริเวอร์ไซด์ เกสเฮ้าส์ หรือ ที่อคัมย์สิริก็ใช้ได้ครับ

-หากพักที่ ริเวอร์ไซด์ ก็สามารถเดินมาเที่ยวที่นี่ได้โดยไม่ต้องขับรถให้เสียเวลา เพราะอยู่ใกล้กัน ในย่านนั้น ก็มีอาหารให้เลือกรับประทานได้หลากหลายแบบ ราคาและบรรยากาศ ที่สำคัญทุกร้านราคาคุ้มกับเงินที่เสียไปครับ
                -ร้านข้าวต้มบาทเดียว บรรยากาศบ้านเก่าอยู่ใกล้กาดมาก
                -ร้านอาหารเหนือ เชลล์ชวนชิม แม่แห ต้องลอง
                -ร้านนิวทะเลเผา สำหรับคนที่ขาดอาหารทะเลไม่ได้ แม้มาไกลถึงกว่า 600 กิโล
                 รสชาติใช้ได้ แต่ความสดคงต้องแพ้ระยะทางล่ะครับ
                -ร้านผัดไทยและอาหารตามสั่งป้าฟอง คุณภาพดี ราคาประหยัดสำหรับนักเดินทางวัยเยาว์
                -ร้านข้าวต้มบาทเดียวป้าแข ถ้าบรรยากาศไม่ได้เป็นสิ่งที่คุณแคร์ แต่รสชาติ ราคาคุ้มค่า
                 และความอบอุ่นจากลูกค้าที่แน่นขนัด (หลักประกันความอร่อย) คือสิ่งที่คุณต้องการ
                -ร้านริเวอร์ไซด์  อาหารหลากหลายสไตล์ โดยเจ้าของเดียวกับริเวอร์ไซด์ เกสเฮ้าส์

-ในตอนเช้า หาโอกาสมาทานบะหมี่เกี๊ยวหน้าไปรษณีย์ การันตีโดยวลี "บะหมี่นี้ที่ผมฝันถึง" ของลุงหม่อมถนัดศรี น้ำซุปอร่อยมากครับ หรือจะเดินไปแถววัดสวนดอก ลองชิมข้าวหน้าเป็ด โจ๊กฮ่องกง
ที่ปรุงโดยคนฮ่องกงแท้ก็อร่อยไม่แพ้กันครับ


วิหารภายในวัดเกาะวาลุการามที่รูปทรงต่างจากรูปแบบล้านนาทั่วไป มีความสวยงามแปลกตา และภาพบรรยากาศภายในวัด


-จากนั้น ก็หาเวลาสักหน่อย เพื่อเดินชมความงามของกาดกองต้าในยามเช้า ประเดิมด้วยไหว้พระที่วัดเกาะวาลุการาม จากนั้นซึมซับรายละเอียดบ้านโบราณที่แต่ละหลังบรรจงสร้างโดยคหบดีในยุครุ่งเรืองของกาด ที่ขาดไม่ได้คือ การถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับสะพานเก่าแก่ของลำปาง "สะพานรัษฎา" หากมีเวลาพอเหลือ ก็เดินแอ่วกาดหัวขัว (ตลาดหัวสะพาน) เท่านี้ ก็ได้มีเรื่องไปเล่าเกี่ยวกับลำปางได้ไม่รู้ลืมแล้วล่ะครับ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม: สามารถแวะเข้าไปที่ลิ้งค์ www.happylampang.com ได้เลยเพื่อหาข้อมูลจากคนในท้องถิ่นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น