วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วัดปงสนุกใต้ ของดีๆที่อยากให้คุณได้รู้จัก

มัยเด็กๆ เป็นคนชอบปั่นจักรยานไปเที่ยวกับเพื่อนวัยละอ่อนต่อนแต่นอย่างมาก (ภาษากลางน่าจะหมายถึง วัยอ่อนต่อโลกประมาณนั้นน่ะครับ) ถ้าปิดเทอม เช้ามาก็คว้ารถถีบ(จักรยาน)คู่ชีพ (ที่อุตส่าห์ออมเงินซื้อวันละ 1 บาทหลายปีกว่าจะได้ เพราะสมัยนั้น รถจักรยานไม่ได้ถูกๆนะครับเพราะถือเป็นพาหนะสำคัญในสมัยที่มอเตอร์ไซค์ยังเป็นของแพงอยู่ รถยนต์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง รถถีบคันหนึ่งก็ประมาณ 2-3พันบาท ถ้าจะให้เห็นภาพก็ต้องเปรียบเทียบว่า ทองคำยังบาทละ 800 บาทนะครับ) ออกจากบ้านเพื่อไปเที่ยวกับเพื่อนตามประสาเด็ก ตจว.

สถานที่ที่แก็งค์เรา มักจะไปกันก็คือ แม่น้ำวัง ไปจับกุ้งหอยปูปลา ไปกาดกองต้าเพื่อไปหาเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งที่บ้านอยู่แถวนั้น และมีเพื่อนเยอะมากเพราะกาดกองต้าเป็นชุมชนที่คนส่วนใหญ่อยู่กันมานาน ดังนั้น เด็กก็จะมีเพื่อนละแวกบ้านที่รู้จักกันดีเป็นกลุ่มใหญ่ บ่อยครั้งที่ไปที่นั่น เรามักจะข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งเพื่อไปเที่ยววัดปงสนุกใต้กัน ไม่เคยรู้เลยว่าที่นั่นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแค่ไหน เพราะสำหรับเด็กๆแล้ว สิ่งดึงดูดใจก็คือ "การไปอมควัน"

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงตกใจว่า เด็กๆพวกนี้ริอ่านสูบบุหรี่ แถมยังไปสูบกันที่วัดอีก แหมมันน่า....
รอก่อน อย่าเพิ่งตกใจครับ เพราะเพื่อนสนิทผมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจิ๋วของย่านกองต้าสมัยนั้น เค้าเป็นเด็กดีและแม่เค้าก็เป็นคนดูแลลูกใกล้ชิด ไม่เพียงแต่ทำอาหารอร่อยเลี้ยงเพื่อนลูกเสมอๆ ยังใส่ใจสุขภาพ พาลูกของตนไปอมควันเสมอๆที่วัดนี้ เพื่อนคนนี้ก็เลยอยากพาพวกผมไปลองวิธีรักษาสุขภาพแบบนี้ไปด้วย

มุมมองจากด้านล่าง จากห้องเก็บหีดธรรมขึ้นไปหาวิหารจตุรมุข
"การอมควัน" ที่ว่านี้ เฉลยเลยก็แล้วกัน ก็คือ ทางวัดเค้าจะเอาสมุนไพรหลายๆอย่างมาเผาไฟ พอมีควันก็เอากระบอกมาปิดครอบไว้แล้วให้เราอมปลายอีกด้านค้างไว้ (คล้ายกับการอมบ้องกัญชา) ใช้เวลาประมาณสัก 10-20 นาทีเพื่อให้ควันได้เข้าไปถึงทุกอณูของช่องปาก ว่ากันว่า จะทำให้โรคในปากต่างๆอาการดีขึ้น และแมลงกินฟัน (ตามความเชื่อของเราเอง) ก็จะถูกฆ่าให้หมดไป

ช่วงหลังๆที่กลับมาอยู่ที่ลำปางอย่างถาวรแล้ว ผมได้เคยไปลองถามดู เค้าว่าไม่มีแล้วครับ คงเป็นภูมิปัญญาของพระรูปใดรูปหนึ่งในสมัยนั้นน่ะครับ ว่าแต่มันเพลินดีนะครับ ทว่า นึกย้อนกลับไป เรื่องอนามัยคงไม่ต้องพูดถึง ฮ่าๆ 
วิหารจตุรมุขและพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน

มาวันนี้ ในช่วงไม่กี่ปีก่อน ใครจะรู้ล่ะว่า วัดที่เราชื่นชอบกับการไป"อมควัน" นั้น จะเป็นวัดที่มีความสำคัญในระดับโลก เพราะได้รับการยกย่องมอบรางวัลให้เป็น วัดที่ได้รับรางวัลระดับ “Award of Merit” จาก โครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation จากองค์การ UNESCO ในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม-สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่เหลืออยู่โดยเน้นด้านการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับภาครัฐ 
ทางเข้าด้านหน้า บริเวณทางขึ้นประตูโขงมองเห็นวิหารจตุรมุขอยู่ด้านหลัง


วัดปงสนุกใต้ตั้งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญคู่กับจังหวัดลำปางมาช้านาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (ลำพูน) เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) เมื่อ พ.ศ.1223 หรือ 1,328 ปีก่อน โดยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นได้แก่
วิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งเป็นวิหารทรงจตุรมุขที่มีรูปแบบงดงามและน่าจะเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง ล้านนา พม่า และจีน ซึ่งได้ถูกนำไปเป็นต้นแบบให้กับหอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายอีกด้วย
ภาพเขียนรอบๆหีดธรรม


แต่ที่ประทับใจไม่แพ้กันสำหรับผม และเพื่อนๆอีกหลายคนในแวดวงการออกแบบที่ผมได้เคยพาไปชม ก็คือ ภาพเขียนลายต่างๆ  ในวัดที่ตัวศิลปินได้เขียนออกมาอย่างมีความสุข ลื่นไหลสวยงาม อย่างที่เราจะรู้สึกได้ทันทีที่ได้ชม มีความทันสมัยไม่ตกยุคแม้เวลาจะผ่านมานานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม ตรงนี้บอกได้เลยว่าห้ามพลาด ทั้งในส่วนที่เป็นประตูโขงทางขึ้นด้านหน้าวัด และหีดธรรม (คล้ายๆกับหีบเก็บพระธรรมคัมภีร์) ซึ่งแสดงอยู่ด้านในวัด

ภาพเขียนบริเวณด้านในประตูโขง

ภาพเขียนบริเวณด้านหลังประตูโขง

อีกอย่างที่คนที่ไปส่วนใหญ่มักไม่รู้ และพลาดการเดินชมก็คือ บริเวณที่เป็นกุฏิเจ้าอาวาสเดิม ด้านในสุดของวัด ที่ปัจจุบันปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ มีของดีๆให้ชมมากมาย มีลักษณะเป็นอาคารเรือนไม้เดิมตามแบบล้านนาในยุคหลายสิบปี ซึ่งถ้าสังเกตดีๆจะเห็นภูมิปัญญาในการออกแบบอาคารให้อยู่สบายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแบบชาวเหนือครับ
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ที่ดัดแปลงจากกุฏิเจ้าอาวาสหลังเดิม

ถ้าจะให้แจ่ม ควรกะเวลาให้ใกล้ช่วงมื้อกลางวัน เพราะหลังจากครบเครื่องกับวัฒนธรรมแล้ว ก็ต้องไม่พลาดข้าวซอยอิสลามร้านดังทางไปสะพานรัษฎา ที่เราสามารถจอดรถที่นี่แล้วเดินไปได้

เรียกว่า ทริปนี้ อิ่มตาอิ่มใจและอิ่มท้องไปพร้อมๆกันเลยทีเดียว

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม: สามารถแวะเข้าไปที่ลิ้งค์ www.happylampang.com ได้เลยเพื่อหาข้อมูลจากคนในท้องถิ่นครับ



วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

จักรยานริมน้ำวัง...วันอาทิตย์ยามเย็นกับชีวิตที่เชื่องช้า

มเคยคิดว่าตนเองจะเอาชนะธรรมชาติได้...

ในตอนเด็ก มีการ์ตูนอยู่เรื่องหนึ่งที่ตัวเอกพยายามฝึกมองรถไฟที่วิ่งไปด้วยความเร็วสูงและเชื่อเอาเองว่า ถ้าเค้าสามารถมองได้ทันเห็นใบหน้าของคนที่นั่งในขบวน และฝึกจนชำนาญ การเป็นนักชกของเค้าจะประสบความสำเร็จเพราะจะมองเห็นและหลบหมัดของคู่ต่อสู้ได้ทัน อาจเป็นเรื่องที่จริงก็ได้และถ้าเป็นเรื่องจริง เค้าคนนั้นก็คงจะดูหนังไม่ค่อยสนุก รวมไปถึงโทรทัศน์ที่ภาพจะกระพริบดับติดๆอยู่ตลอดเวลา

ในตอนเป็นวัยรุ่น หลายคนรวมทั้งผมด้วย เรามักจะขับรถเร็วๆให้ไปถึงที่หมายได้ก่อนคนอื่นๆโดยไม่สนใจว่าข้างทางจะสวยงาม หรือมีอะไรที่น่าสนใจและเราอาจจะพลาดการพบเจอสิ่งที่ดีๆระหว่างทางได้เพราะการใช้ชีวิตในแบบที่ฝรั่งเรียกว่า  "Life in the fast lane"

มนุษย์ส่วนใหญ่คงพยายามเป็นเช่นนักชกในการ์ตูนเรื่องนั้น หลายสิ่งในโลกเราตอนนี้ถึงได้กลายมาเป็นอย่างที่เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามอย่างทุกวันนี้... ชีวิตเราเร็วไปหรือเปล่า?

เราเบื่อการเดินทางที่ชักช้า เราเบื่อการฟังเสียงรอบข้างโดยเฉพาะที่ดังมาจากคนที่เดินช้ากว่าเรา เราเบื่อสิ่งที่เป็น Analog แล้วผละไปสู่ความเป็น Digital ด้วยใจจดจ่อ และคนส่วนใหญ่ก็จะไม่สนใจชีวิตที่เร็วขึ้นๆๆอย่างผิดธรรมชาติแบบทุกวันนี้ ตราบใดที่ฟันเฟืองแห่งชีวิตของเค้ายังหมุนได้อยู่



ที่พูดมายืดยาว ก็แค่อยากจะเกริ่นนำสักหน่อย ก่อนจะพูดถึงเรื่องการหาโอกาสปั่นจักรยานแบบไม่เร่งรีบริมน้ำวังของผมและภรรยา และอีกหลายๆคนในจังหวัดเล็กๆนี้ การที่วันหยุดมาถึงและเรามีเวลาพอที่จะออกไปปั่นจักรยานจากบ้าน เลาะเลียบริมแม่น้ำวังฝั่งโรงเรียนวิชชานารี ผ่านด้านหลัง รพ.แวนแซนต์วู๊ด (ซึ่งแทบจะไม่มีรถใหญ่วิ่งเลย จะมีก็แต่รถมอเตอร์ไซค์บ้างเป็นระยะๆ)ปั่นไปเรื่อยๆจนถึงกาดกองต้าแล้วเลยไปถึงย่านท่ามะโอเมืองเก่านั้น ช่างเป็นความสุขเสียจริงๆสำหรับคนที่เริ่มชื่นชอบกับชีวิตที่เชื่องช้า หลังการปิดร้านที่จตุจักรอันวุ่นวายแล้วหันมาใช้ชีวิตที่นี่เป็นหลัก



การปั่นจักรยานสำหรับเราสองคนที่นี่ ทำให้เราได้หาเรื่องออกกำลังกายมากขึ้น ได้เห็นทิวทัศน์จากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำวังในแบบเย็นๆใจ อยากจะแวะตรงไหนก็จอดได้ทันที ก่อนจะไปหาอะไรกินกันในเมืองแล้วก็ปั่นกลับเพื่อย่อยอาหารให้หมดไป เสียอย่างเดียวเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับจักรยานแบบเส้นทางนี้มีน้อยไปหน่อย นั่นทำให้เราเบื่อเป็นบางช่วง และอยากลองหาเส้นทางใหม่ แต่ก็ค่อนข้างไม่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับเส้นทางนี้  เส้นทางที่ทั้งปลอดภัยและสวยงามแบบนี้น่าจะมีมากๆในเมืองต่างๆของประเทศที่วุ่นวายนี้เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาปั่นกันอย่างจริงจัง เช่น ในเดนมาร์คหรือเนเธอร์แลนด์ ที่เราสามารถปั่นไปทำงานทั้งเช้าและเย็นได้ทุกๆวัน ลำพังในลำปางเอง หากจะปั่นเข้าไปในเมืองตามเส้นทางปกติ ต้องบอกตามตรงด้วยภาษาไม่สุภาพว่า เสียวตู..จริงๆ ยิ่งถ้ามีเด็กๆไปด้วยล่ะก้อ!!!ไม่แนะนำครับ


ส้นทางนี้ จะเริ่มต้นที่บริเวณฝายน้ำแม่วังเฉลิมพระเกียรติ หรือเขื่อนยางที่คนท้องถิ่นจะรู้จักกันดี ที่สำคัญที่นี่จะมีลานจอดรถขนาดใหญ่ที่เราสามารถทิ้งรถยนต์ไว้ได้อย่างปลอดภัย แล้วหอบจักรยานข้ามสะพานแขวนที่สวยงามของจังหวัดลำปาง ที่นี่จะเป็นหนึ่งในจุดชมวิวที่สวยงาม และเหมาะแก่ผู้ที่ชอบถ่ายรูปอย่างมากๆๆๆ จากนั้น ก็ปั่นเลียบฝั่งแม่น้ำไปเรื่อยๆ โดยเราสามารถแวะกินอะไรข้างทางได้หากต้องการ แต่จุดที่ของกินมีให้เลือกมากมายนั้น จะอยู่แถบกาดกองต้าและบริเวณโดยรอบ ต้องลองกันดูครับ เพราะบางเจ้าคนว่าอร่อย เราอาจไม่ชอบก็ได้ จากนั้น ก็ข้ามสะพานอีกครั้งเป็นสะพานปูนขนาดเล็ก ข้ามได้เฉพาะรถสองล้อ

โดยจุดนี้ เราสามารถตรงเข้าไปยังกาดกองต้าได้ หากเป็นช่วงเย็นวันเสาร์ และอาทิตย์จะมีของกินเต็มไปหมด แต่เราต้องจูงรถเอาครับ ห้ามขี่โดยมารยาท จากนั้นก็กลับมาที่สะพานแล้ววิ่งเลาะแม่น้ำฝั่งเดียวกับกาด ไปเรื่อยๆจนเจอสะพานรัษฎา ลอดใต้ไปจนเจอสะพานช้างเผือกก็ข้ามไปอีกฝั่ง (ฝั่งนี้ ก็มีร้านอาหารอร่อยๆหลายร้าน รวมถึงกาดหัวขัว (ตลาดหัวสะพานรัษฎา) ซึ่งเราสามารถแวะซื้อของกินได้แต่ต้องระวังรถหายด้วยหากเป็นจักรยานไฮโซ สำหรับของผมจักรยานโลโซ...ไม่น่าห่วงครับ)  แล้วก็วนกลับมาทิศเดิมจนเจอสะพานเล็กสำหรับรถสองล้อ แล้วก็ขี่กลับเลียบแม่น้ำมาทางเดิมจนเจอเขื่อนยาง เป็นอันจบทริป

ถ้าได้มีโอกาสมาลำปาง อยากให้หาเวลามาลองปั่นกันตามเส้นทางนี้ดูนะครับ รับรองจะติดใจ...

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม: สามารถแวะเข้าไปที่ลิ้งค์ www.happylampang.com ได้เลยเพื่อหาข้อมูลจากคนในท้องถิ่นครับ

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

กาดกองต้า อีกด้านหนึ่งที่น่าค้นหาของลำปาง

"าดกองต้า" สถานที่ยอดฮิตสำหรับคนต่างจังหวัดที่ได้เดินทางขึ้นเหนือมาแอ่วลำปาง ว่าแต่มันแปลว่าอะไร ถ้าแปลเหนือเป็นไทย ก็น่าจะเป็นตลาดริมน้ำ  (ซึ่งหลายคนอาจจะดูไม่ออกเพราะที่นี่จะจัดเป็นตลาดนัดเฉพาะช่วงหัวค่ำเป็นต้นไปของทุกวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น จึงไม่ใคร่มีใครได้เห็นทิวทัศน์ริมน้ำวังของย่านกาดนี้เท่าใดนัก)

บรรยากาศของกาดกองต้าในยามเช้า ที่เห็นเด่นเป็นสง่านั้นคือ ตึกบ้านแม่แดง

ที่นี่เป็นตลาดจริงๆของชาวเรือรวมถึงชาวลำปางในย่านนั้นในอดีต
เป็นแหล่งรวมตึกรามร้านค้ามากมายในยุคที่ลำปางกำลังสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาในด้านเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการทำไม้ในภาคเหนือรวมถึงศูนย์ส่งสินค้าบางอย่างที่หาได้ยากในภาคกลางโดยมีการขนส่งทางน้ำเป็นหัวใจหลัก ก่อนที่จะลดบทบาทลงเมื่อยุคเส้นทางรถไฟได้วางรางมาถึงสถานีลำปางและสร้างต่อทะลุอุโมงค์ขุนตานไปยังเชียงใหม่ในที่สุด


น้ำท่วมใหญ่และซุงเกลื่อนท้องน้ำแม่วัง พศ.2463  ที่มา คุณสุวภรณ์ ชูโต (ด้านหลังไกลๆจะมองเห็นสะพานรัษฎาภิเศก)


ในยุคที่ผมยังเด็กๆนั้น ยังจำบรรยากาศได้ดีในช่วงปิดเทอมที่ทุกปี แม่จะส่งไปอยู่ที่กาดกองต้า(อยู่กับผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือมากและเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในย่านกาดกองต้าที่คนรุ่น 50 (เรียกให้เท่เหมือนรุ่นกางเกงยีนส์ แต่จริงๆก็คือ 50ปีขึ้นไป) น่าจะจำชื่อ คุณยายกิมฮวย ยะตินันท์ คนนี้ได้ ) ซึ่งในตอนนั้น ไม่ค่อยสนุกและคึกคักเหมือนอย่างในตอนนี้ เพราะเป็นช่วงที่การค้าของยุครุ่งเรืองค่อยๆหมดเลือนหายไปจาก
ผู้คนในย่านนั้น ตึกรามบ้านช่องห้องแถวในตอนนั้น น่าจะเป็นเหมือนกับที่พักอาศัยในยามค่ำ และตึกโบราณหลายๆแห่งก็เป็นตึกร้างไร้คนอยู่อาศัยและเหลียวแล

อะไรที่เคยรุ่งเรืองก็ย่อมมีเสื่อมสลาย และเมื่อมีเสื่อมสลายก็อาจมีวันกลับมาฟื้นฟูได้เช่นกัน แม้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเช่นกาลก่อนนั้น กาดกองต้าก็เช่นกัน ผมยังจำบรรยากาศเมื่อวันเปิดกาดในช่วงหัวค่ำของ
หลายปีก่อนได้ เพราะตอนนั้น เราได้รับเชิญให้ไปร่วมขายสินค้าโดยไม่ต้องเสียค่าพื้นที่ ในตอนนั้น คนที่เดินส่วนใหญ่ก็มาจากในพื้นที่เมืองลำปางนี่ล่ะครับ ช่วยกันกิน ช่วยกันซื้อ ช่วยกันใช้ ตึกโบราณหลายๆหลังก็ได้ลูกหลานของเจ้าของบ้านช่วยกันชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ สินค้าที่วางขายก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพ และยุคสมัย (แม้จะไม่คลาสสิคอย่างที่ใจหลายคนอยากให้เป็น) ส่วนเราก็เลิกขายไปเพราะเป็นสินค้าที่หนักและขนไปลำบากไม่คุ้มทุน ไม่เหมือนที่คนหนุ่มๆที่พยายามสรรหาสินค้าใหม่ๆทั้งที่เป็นงานคิดสร้างสรรค์และสินค้าในท้องถิ่นรวมถึงสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วๆไปที่ยังดำเนินการขายต่อ และก็เพราะคนค้าขายรุ่นใหม่ๆเหล่านี้ล่ะครับ ที่ทำให้กาดกองต้าสามารถเปิดขายได้ทุกอาทิตย์จนเป็นที่รู้จักในระดับประเทศดังเช่นทุกวันนี้ น่าชื่นใจครับ


ลายฉลุไม้เป็นชื่อ หม่องโง่ยซิ่น เจ้าของผู้สร้างอาคารหลังงามแห่งกาดกองต้า


ทุกวันนี้ กาดกองต้าอยู่ในโปรแกรมทัวร์ของหลายๆคนเมื่อต้องการมาแวะเที่ยวลำปาง เมือง"เวียงละกอน" ไก่ขันแห่งนี้ และถ้าจะให้แนะนำเที่ยวผมก็พอจะสรุปออกมาได้ประมาณนี้

-หาโอกาสมาพักที่ลำปางสักคืน สองคืนเพื่อซึมซับบรรยากาศเก่าๆของเมืองแก่ๆแต่อบอุ่นไม่แพ้ใครแห่งนี้ ที่พักก็อาจจะเป็นที่ ริเวอร์ไซด์ เกสเฮ้าส์ หรือ ที่อคัมย์สิริก็ใช้ได้ครับ

-หากพักที่ ริเวอร์ไซด์ ก็สามารถเดินมาเที่ยวที่นี่ได้โดยไม่ต้องขับรถให้เสียเวลา เพราะอยู่ใกล้กัน ในย่านนั้น ก็มีอาหารให้เลือกรับประทานได้หลากหลายแบบ ราคาและบรรยากาศ ที่สำคัญทุกร้านราคาคุ้มกับเงินที่เสียไปครับ
                -ร้านข้าวต้มบาทเดียว บรรยากาศบ้านเก่าอยู่ใกล้กาดมาก
                -ร้านอาหารเหนือ เชลล์ชวนชิม แม่แห ต้องลอง
                -ร้านนิวทะเลเผา สำหรับคนที่ขาดอาหารทะเลไม่ได้ แม้มาไกลถึงกว่า 600 กิโล
                 รสชาติใช้ได้ แต่ความสดคงต้องแพ้ระยะทางล่ะครับ
                -ร้านผัดไทยและอาหารตามสั่งป้าฟอง คุณภาพดี ราคาประหยัดสำหรับนักเดินทางวัยเยาว์
                -ร้านข้าวต้มบาทเดียวป้าแข ถ้าบรรยากาศไม่ได้เป็นสิ่งที่คุณแคร์ แต่รสชาติ ราคาคุ้มค่า
                 และความอบอุ่นจากลูกค้าที่แน่นขนัด (หลักประกันความอร่อย) คือสิ่งที่คุณต้องการ
                -ร้านริเวอร์ไซด์  อาหารหลากหลายสไตล์ โดยเจ้าของเดียวกับริเวอร์ไซด์ เกสเฮ้าส์

-ในตอนเช้า หาโอกาสมาทานบะหมี่เกี๊ยวหน้าไปรษณีย์ การันตีโดยวลี "บะหมี่นี้ที่ผมฝันถึง" ของลุงหม่อมถนัดศรี น้ำซุปอร่อยมากครับ หรือจะเดินไปแถววัดสวนดอก ลองชิมข้าวหน้าเป็ด โจ๊กฮ่องกง
ที่ปรุงโดยคนฮ่องกงแท้ก็อร่อยไม่แพ้กันครับ


วิหารภายในวัดเกาะวาลุการามที่รูปทรงต่างจากรูปแบบล้านนาทั่วไป มีความสวยงามแปลกตา และภาพบรรยากาศภายในวัด


-จากนั้น ก็หาเวลาสักหน่อย เพื่อเดินชมความงามของกาดกองต้าในยามเช้า ประเดิมด้วยไหว้พระที่วัดเกาะวาลุการาม จากนั้นซึมซับรายละเอียดบ้านโบราณที่แต่ละหลังบรรจงสร้างโดยคหบดีในยุครุ่งเรืองของกาด ที่ขาดไม่ได้คือ การถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับสะพานเก่าแก่ของลำปาง "สะพานรัษฎา" หากมีเวลาพอเหลือ ก็เดินแอ่วกาดหัวขัว (ตลาดหัวสะพาน) เท่านี้ ก็ได้มีเรื่องไปเล่าเกี่ยวกับลำปางได้ไม่รู้ลืมแล้วล่ะครับ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม: สามารถแวะเข้าไปที่ลิ้งค์ www.happylampang.com ได้เลยเพื่อหาข้อมูลจากคนในท้องถิ่นครับ