วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วัดปงสนุกใต้ ของดีๆที่อยากให้คุณได้รู้จัก

มัยเด็กๆ เป็นคนชอบปั่นจักรยานไปเที่ยวกับเพื่อนวัยละอ่อนต่อนแต่นอย่างมาก (ภาษากลางน่าจะหมายถึง วัยอ่อนต่อโลกประมาณนั้นน่ะครับ) ถ้าปิดเทอม เช้ามาก็คว้ารถถีบ(จักรยาน)คู่ชีพ (ที่อุตส่าห์ออมเงินซื้อวันละ 1 บาทหลายปีกว่าจะได้ เพราะสมัยนั้น รถจักรยานไม่ได้ถูกๆนะครับเพราะถือเป็นพาหนะสำคัญในสมัยที่มอเตอร์ไซค์ยังเป็นของแพงอยู่ รถยนต์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง รถถีบคันหนึ่งก็ประมาณ 2-3พันบาท ถ้าจะให้เห็นภาพก็ต้องเปรียบเทียบว่า ทองคำยังบาทละ 800 บาทนะครับ) ออกจากบ้านเพื่อไปเที่ยวกับเพื่อนตามประสาเด็ก ตจว.

สถานที่ที่แก็งค์เรา มักจะไปกันก็คือ แม่น้ำวัง ไปจับกุ้งหอยปูปลา ไปกาดกองต้าเพื่อไปหาเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งที่บ้านอยู่แถวนั้น และมีเพื่อนเยอะมากเพราะกาดกองต้าเป็นชุมชนที่คนส่วนใหญ่อยู่กันมานาน ดังนั้น เด็กก็จะมีเพื่อนละแวกบ้านที่รู้จักกันดีเป็นกลุ่มใหญ่ บ่อยครั้งที่ไปที่นั่น เรามักจะข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งเพื่อไปเที่ยววัดปงสนุกใต้กัน ไม่เคยรู้เลยว่าที่นั่นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแค่ไหน เพราะสำหรับเด็กๆแล้ว สิ่งดึงดูดใจก็คือ "การไปอมควัน"

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงตกใจว่า เด็กๆพวกนี้ริอ่านสูบบุหรี่ แถมยังไปสูบกันที่วัดอีก แหมมันน่า....
รอก่อน อย่าเพิ่งตกใจครับ เพราะเพื่อนสนิทผมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจิ๋วของย่านกองต้าสมัยนั้น เค้าเป็นเด็กดีและแม่เค้าก็เป็นคนดูแลลูกใกล้ชิด ไม่เพียงแต่ทำอาหารอร่อยเลี้ยงเพื่อนลูกเสมอๆ ยังใส่ใจสุขภาพ พาลูกของตนไปอมควันเสมอๆที่วัดนี้ เพื่อนคนนี้ก็เลยอยากพาพวกผมไปลองวิธีรักษาสุขภาพแบบนี้ไปด้วย

มุมมองจากด้านล่าง จากห้องเก็บหีดธรรมขึ้นไปหาวิหารจตุรมุข
"การอมควัน" ที่ว่านี้ เฉลยเลยก็แล้วกัน ก็คือ ทางวัดเค้าจะเอาสมุนไพรหลายๆอย่างมาเผาไฟ พอมีควันก็เอากระบอกมาปิดครอบไว้แล้วให้เราอมปลายอีกด้านค้างไว้ (คล้ายกับการอมบ้องกัญชา) ใช้เวลาประมาณสัก 10-20 นาทีเพื่อให้ควันได้เข้าไปถึงทุกอณูของช่องปาก ว่ากันว่า จะทำให้โรคในปากต่างๆอาการดีขึ้น และแมลงกินฟัน (ตามความเชื่อของเราเอง) ก็จะถูกฆ่าให้หมดไป

ช่วงหลังๆที่กลับมาอยู่ที่ลำปางอย่างถาวรแล้ว ผมได้เคยไปลองถามดู เค้าว่าไม่มีแล้วครับ คงเป็นภูมิปัญญาของพระรูปใดรูปหนึ่งในสมัยนั้นน่ะครับ ว่าแต่มันเพลินดีนะครับ ทว่า นึกย้อนกลับไป เรื่องอนามัยคงไม่ต้องพูดถึง ฮ่าๆ 
วิหารจตุรมุขและพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน

มาวันนี้ ในช่วงไม่กี่ปีก่อน ใครจะรู้ล่ะว่า วัดที่เราชื่นชอบกับการไป"อมควัน" นั้น จะเป็นวัดที่มีความสำคัญในระดับโลก เพราะได้รับการยกย่องมอบรางวัลให้เป็น วัดที่ได้รับรางวัลระดับ “Award of Merit” จาก โครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation จากองค์การ UNESCO ในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม-สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่เหลืออยู่โดยเน้นด้านการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับภาครัฐ 
ทางเข้าด้านหน้า บริเวณทางขึ้นประตูโขงมองเห็นวิหารจตุรมุขอยู่ด้านหลัง


วัดปงสนุกใต้ตั้งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญคู่กับจังหวัดลำปางมาช้านาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (ลำพูน) เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) เมื่อ พ.ศ.1223 หรือ 1,328 ปีก่อน โดยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นได้แก่
วิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งเป็นวิหารทรงจตุรมุขที่มีรูปแบบงดงามและน่าจะเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง ล้านนา พม่า และจีน ซึ่งได้ถูกนำไปเป็นต้นแบบให้กับหอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายอีกด้วย
ภาพเขียนรอบๆหีดธรรม


แต่ที่ประทับใจไม่แพ้กันสำหรับผม และเพื่อนๆอีกหลายคนในแวดวงการออกแบบที่ผมได้เคยพาไปชม ก็คือ ภาพเขียนลายต่างๆ  ในวัดที่ตัวศิลปินได้เขียนออกมาอย่างมีความสุข ลื่นไหลสวยงาม อย่างที่เราจะรู้สึกได้ทันทีที่ได้ชม มีความทันสมัยไม่ตกยุคแม้เวลาจะผ่านมานานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม ตรงนี้บอกได้เลยว่าห้ามพลาด ทั้งในส่วนที่เป็นประตูโขงทางขึ้นด้านหน้าวัด และหีดธรรม (คล้ายๆกับหีบเก็บพระธรรมคัมภีร์) ซึ่งแสดงอยู่ด้านในวัด

ภาพเขียนบริเวณด้านในประตูโขง

ภาพเขียนบริเวณด้านหลังประตูโขง

อีกอย่างที่คนที่ไปส่วนใหญ่มักไม่รู้ และพลาดการเดินชมก็คือ บริเวณที่เป็นกุฏิเจ้าอาวาสเดิม ด้านในสุดของวัด ที่ปัจจุบันปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ มีของดีๆให้ชมมากมาย มีลักษณะเป็นอาคารเรือนไม้เดิมตามแบบล้านนาในยุคหลายสิบปี ซึ่งถ้าสังเกตดีๆจะเห็นภูมิปัญญาในการออกแบบอาคารให้อยู่สบายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแบบชาวเหนือครับ
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ที่ดัดแปลงจากกุฏิเจ้าอาวาสหลังเดิม

ถ้าจะให้แจ่ม ควรกะเวลาให้ใกล้ช่วงมื้อกลางวัน เพราะหลังจากครบเครื่องกับวัฒนธรรมแล้ว ก็ต้องไม่พลาดข้าวซอยอิสลามร้านดังทางไปสะพานรัษฎา ที่เราสามารถจอดรถที่นี่แล้วเดินไปได้

เรียกว่า ทริปนี้ อิ่มตาอิ่มใจและอิ่มท้องไปพร้อมๆกันเลยทีเดียว

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม: สามารถแวะเข้าไปที่ลิ้งค์ www.happylampang.com ได้เลยเพื่อหาข้อมูลจากคนในท้องถิ่นครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น